ธรรมนูญของสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่

กลุ่มองค์กรภาคีหลักที่ได้ร่วมกันดำเนินงานควบคุมยาสูบได้มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุอัตราการสูบบุหรี่ในช่วงห้าปีที่ผ่านมากลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งพบว่ามีหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยสำคัญคือการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆในการควบคุมยาสูบยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะหน่วยงานภาคสุขภาพและหน่วยงานในเขตเมือง ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอเมื่อเทียบกับมาตรการเชิงรุกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและรุนแรงของอุตสาหกรรมยาสูบจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหาความร่วมมือร่วมแรงเพิ่มขึ้นจากเครือข่ายทุกภาคส่วนที่มีบทบาทใน การพัฒนาสังคมทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ทั้งในและนอกภาคการสาธารณสุขและนอกวงการสาธารณสุข เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วยเหตุนี้ จึงมีการจัดตั้งสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ (สคสบ.) ซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อเป็น พันธมิตรร่วมสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และร่วมสนับสนุนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดการบริโภคยาสูบให้ได้ร้อยละ 30 โดยอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยลดลงจากร้อยละ 21 ในปี 2554 เหลือร้อยละ 15 ในปี 2568 ตามเป้าหมายในการลดปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคไม่ติดต่อขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศสมาชิกทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้มีมติตกลงร่วมกัน ทั้งนี้การดำเนินงานของสหพันธ์จะเป็นไปตามข้อกำหนดในธรรมนูญฉบับนี้

ข้อบังคับของสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่

หมวดที่ 1 ความทั่วไป

ข้อ 1 สมาพันธ์นี้ชื่อว่าสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่

ย่อว่า สคสบ. เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า National Alliance for Tobacco Free Thailand ย่อว่า NATFT

ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาพันธ์ เป็นลักษณะของคนกลุ่มหนึ่งโอบมือล้อมเป็นวง ภายในเป็นเส้นรอบวงล้อมรอบ ธงชาติและสัญลักษณ์การห้ามบุหรี่

ข้อ 3 สำนักงานของสมาพันธ์ฯ ตั้งอยู่ ณ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยเลขที่ 2 อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร10310
ข้อ 4 คำนิยาม คำว่า บุหรี่ ให้หมายรวมถึง ยาสูบ ทุกชนิด

ข้อ 5 วัตถุประสงค์ของสมาพันธ์

5.1 เพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะในการควบคุมยาสูบ
5.2 เป็นศูนย์กลางเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงานควบคุมยาสูบเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่
5.3 จัดให้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างสมาชิก ผลักดันสังคมในการลดการบริโภคยาสูบของสังคมไทย
5.4 ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอันตรายและผลเสียของการบริโภคบุหรี่แก่ประชากรในสังคมไทยเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่
5.5 สมาพันธ์นี้ ไม่มุ่งหาประโยชน์การค้า

หมวดที่ 2 ทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

ข้อ 6 สมาพันธ์อาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีต่อไปนี้

6.1 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้
6.2 ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของสมาพันธ์
6.3 รายได้จากกิจกรรมของสมาพันธ์

หมวดที่ 3 สมาชิก

ข้อ 7 สมาชิกของสมาพันธ์มี 3 ประเภทคือ

7.1 สมาชิกแกนหลัก ได้แก่ สมาชิกจัดตั้งตามบทเฉพาะกาล สมาชิกแกนหลักดำเนินการสมาพันธ์องค์กรที่มีวัตถุประสงค์หลักแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ในสังคมไทยและองค์กรที่ได้รับเชิญเข้าร่วมในการดำเนินงานของสมาพันธ์ในสถานะแกนหลัก
7.2 สมาชิกแนวร่วม ได้แก่ บุคคล องค์กร หน่วยงานอื่นใด ที่ทำงานในด้านยาสูบเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ หรือบุคคล องค์กร หน่วยงานอื่นใด ที่มีความประสงค์ที่จะทำงานร่วม
7.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ได้แก่ที่ปรึกษาหรือบุคคลที่ทำงานการรณรงค์ให้สังคมไทยปลอดบุหรี่ปรากฏผลงานอย่างเป็นที่ประจักษ์

ข้อ 8 สมาชิกมีคุณสมบัติดังนี้

8.1 เป็นผู้มีความตั้งใจในการช่วยเหลือสังคมไทยให้ปลอดบุหรี่
8.2 ไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ตรงจากบริษัทบุหรี่
8.3 ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ

ข้อ 9 ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาพันธ์

ไม่มีการเรียกเก็บค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาพันธ์

ข้อ 10 การสมัครเข้าเป็นสมาชิกแกนหลักของสมาพันธ์

10.1 ผู้สมัครแกนหลักจะต้องยื่นใบสมัครตามแบบของสมาพันธ์ต่อเลขาธิการโดยมีสมาชิกแกนหลักรับรองอย่างน้อย 1 คน
10.2 ให้เลขาธิการแจ้งให้คณะกรรมการอำนวยการทราบและพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป เมื่อคณะกรรมการอำนวยการลงมติรับเป็นสมาชิกแกนหลักแล้วให้เลขาธิการทำหนังสือแจ้งให้ทราบโดยเร็ว

ข้อ 11 การสมัครเข้าเป็นสมาชิกแนวร่วมของสมาพันธ์

11.1 ผู้สมัครแจ้งความจำนงยื่นใบสมัครตามแบบสมาชิกแนวร่วม ของสมาพันธ์ต่อเลขาธิการโดยมีสมาชิกแกนหลักรับรองอย่างน้อย 1 คน
11.2 ให้เลขาธิการแจ้งให้คณะกรรมการอำนวยการทราบ เมื่อคณะกรรมการอำนวยการลงมติรับเป็นสมาชิกแนวร่วมแล้วให้เลขาธิการทำหนังสือแจ้งให้ทราบโดยเร็ว
ข้อ 12 สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่สมาพันธ์ฯ ได้รับหนังสือตอบรับคำเชิญ

ข้อ 13 สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้

13.1 ตาย
13.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ
13.3 ขาดคุณสมบัติของสมาชิก ตามข้อ 6 ของข้อบังคับนี้
13.4 ประพฤติเสียหาย และที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกหรือคณะกรรมการอำนวยการของสมาพันธ์ได้ลงมติให้ออกจากการเป็นสมาชิก

ข้อ 14 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

14.1 สมาชิกแกนหลักมีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็น และลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับกิจการของสมาพันธ์ต่อคณะกรรมการอำนวยการหรือต่อที่ประชุมใหญ่ได้สมาชิกละ 1 เสียง
14.2 สมาชิกแกนหลักมีสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการอำนวยการของสมาพันธ์
14.3 สมาชิกแกนหลักมีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเอกสาร และบัญชีทรัพย์สินของสมาพันธ์ได้
14.4 สมาชิกแกนหลักมีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกแกนหลักทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 50 คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
14.5 สมาชิกทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมประชุมในที่ประชุมใหญ่ได้ทั้งสมาชิกแกนหลักและสมาชิกแนวร่วม
14.6 สมาชิกทุกคนมีสิทธิได้รับแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมต่างๆ ของสมาพันธ์หรือการประชุมทางวิชาการของสมาพันธ์อื่นๆ ที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของสมาพันธ์
14.7 สมาชิกทุกคนมีหน้าที่จะต้องประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์
14.8 สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาพันธ์
14.9 สมาชิกทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาพันธ์จัดขึ้น
14.10 สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาพันธ์ให้เห็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

หมวดที่ 4 การดำเนินกิจการของสมาพันธ์

ข้อ 15 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการอำนวยการ ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาพันธ์ มีกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่า 8 คนไม่เกิน 20 คน คณะกรรมการนี้ ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ ของสมาพันธ์จากสมาชิกแกนหลักและให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุม เลือกตั้งกันเองเป็นประธานสมาพันธ์ 1 คน และรองประธานสมาพันธ์ 1 คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่น ให้ประธานเป็นผู้แต่งตั้งผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ของสมาพันธ์ ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ โดยสังเขปดังต่อไปนี้

15.1 ประธานสมาพันธ์ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาพันธ์ เป็นผู้แทนสมาพันธ์ในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการ และการประชุมต่างๆ ของสมาพันธ์
15.2 รองประธานสมาพันธ์ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยประธานสมาพันธ์ในการบริหารกิจการสมาพันธ์ ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ประธานสมาพันธ์มอบหมายและทำหน้าที่แทนประธานสมาพันธ์เมื่อประธานสมาพันธ์ไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้
15.3 เลขาธิการสมาพันธ์ ทำหน้าที่ปฏิบัติกิจการของสมาพันธ์ และปฏิบัติตามคำสั่งของประธานสมาพันธ์ประสานงานกับสมาชิกและแนวร่วมในการดำเนินการ เพื่อแผนยุทธศาสตร์ของสมาพันธ์ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาพันธ์
15.4 ประธานวิชาการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับวิชาการการรวบรวมการวิจัย การเผยแพร่ที่คณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ให้ความเห็นชอบ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสมาพันธ์
15.5 ประธานฝ่ายสารสนเทศ ทำหน้าที่รวบรวมจัดทำบันทึกข้อมูลวิชาการการรณรงค์สังคมไทยปลอดบุหรี่ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยร่วมกับฝ่ายวิชาการและเลขาธิการสมาพันธ์ เพื่อจัดทำสื่อสำหรับเผยแพร่ ฯลฯ ตามวัตถุประสงค์ของสมาพันธ์
15.6 เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาพันธ์ เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาพันธ์ และเก็บเอกสารหลักฐานทางการเงินต่างๆ ของสมาพันธ์ ไว้เพื่อตรวจสอบ
15.7 ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาพันธ์ เป็นหัวหน้าในการจัด เตรียมสถานที่ของสมาพันธ์และจดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาพันธ์
15.8 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาพันธ์
15.9 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและการประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อการรณรงค์สังคมไทยปลอดบุหรี่ ของสมาพันธ์ให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
15.10 ผู้อำนวยการสำนักงานสมาพันธ์ มีหน้าที่ในการ กำกับดูแลสำนักงาน การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำสมาพันธ์ทั้งหมด
15.11 กรรมการกลาง ทำหน้าที่ช่วยเหลือคณะกรรมการสมาพันธ์ ในด้านต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย คณะกรรมการชุดแรก ให้ผู้เริ่มจัดตั้งสมาพันธ์เป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วยประธานสมาพันธ์ และกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาพันธ์
ข้อ 16 คณะกรรมการของสมาพันธ์สามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 3 ปี และติดต่อกันในตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระ

ข้อ 17 กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้คือ

17.1 ตาย
17.2 ลาออก
17.3 ขาดจากสมาชิกภาพ
17.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
ข้อ 18 กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก
ข้อ 19 ในกรณีที่ตำแหน่งของกรรมการสมาพันธ์ว่างลง ให้คณะกรรมการอำนวยการที่เหลืออยู่ ตั้งสมาชิกแกนหลักบุคคลอื่นเป็นกรรมแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยให้อยู่ในตำแหน่งเท่าวาระของผู้ที่ตนแทน

ข้อ 20 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการ

20.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
20.2 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาพันธ์
20.3 มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
20.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่ประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
20.5 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังไม่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
20.6 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาพันธ์ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
20.7 มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาพันธ์
20.8 มีหน้าที่อื่นๆตามที่ข้อบังคับกำหนดไว้

หมวดที่ 5 การประชุมใหญ่

ข้อ 21 การประชุมใหญ่ของสมาพันธ์ มี 2 ชนิดคือ

21.1 การประชุมใหญ่สามัญ
21.2 การประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 22 คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ 1 ครั้ง

ข้อ 23 การประชุมใหญ่วิสามัญอาจกระทำได้ดังต่อไปนี้

23.1 คณะกรรมการอำนวยการเห็นสมควรให้เรียกประชุม
23.2 สมาชิกแกนหลัก ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกแกนหลักทั้งหมด หรือสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คนทำหนังสือถึงเลขาธิการขอร้องให้จัดมีขึ้น
ข้อ 24 การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุ วัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่
ข้อ 25 การประชุมใหญ่ประจำปีจะครบองค์ประชุมได้ต้องมีสมาชิกแกนหลักเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 20 คน

ข้อ 26 การประชุมใหญ่ประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

26.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
26.2 แถลงบัญชี รายรับรายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
26.3 เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
26.4 เรื่องอื่นๆ ถ้ามี

หมวด 6 การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 27 การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้เหรัญญิกเป็นผู้เก็บและรับผิดชอบต่อการเก็บ เงินสดของสมาพันธ์ โดยให้นำฝากไว้ใน บัญชีออมทรัพย์ธนาคารที่กรรมการอำนวยการเห็นสมควร โดยใช้ ชื่อบัญชี “สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่”
ข้อ 28 ประธานสมาพันธ์ หรือรองประธานในกรณีที่ทำหน้าที่แทน มีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ ครั้งละไม่เกินหนึ่งแสนบาท ในกรณีเกินหนึ่งแสนบาทให้มีเหรัญญิกกับกรรมการอำนวยการอีกหนึ่งท่านร่วมอนุมัติในการเบิกจ่าย
ข้อ 29 ให้มีผู้ตรวจสอบบัญชีของสมาพันธ์ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการเป็นชอบและแต่งตั้งจากบุคคลที่ไม่ใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของสมาพันธ์ โดยผู้ตรวจสอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบบัญชีของสมาพันธ์ และรับรองบัญชีงบดุลประจำปี

หมวดที่ 7 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ

ข้อ 30 ข้อบังคับของสมาพันธ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกแกนหลักเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกแกนหลัก
ข้อ 31 การเลิกสมาพันธ์จะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาพันธ์ ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาพันธ์จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกแกนหลักที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกแกนหลักทั้งหมด
ข้อ 32 เมื่อสมาพันธ์ต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาพันธ์ที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ตกเป็นของนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน หรือการกุศลสาธารณะประโยชน์อย่างอื่นตามแต่ที่ประชุมใหญ่จะเห็นควร

หมวดที่ 8 บทเฉพาะกาล

ข้อ 33 สมาชิกก่อตั้งสมาพันธ์ ในระยะแรกให้มีฐานะเป็นสมาชิกแกนหลัก และดำเนินการเลือกคณะกรรมการอำนวยการสมาพันธ์ฯ ชุดแรก เพื่อการดำเนินการสมาพันธ์ต่อไป
ข้อ 34 การสมัครสมาชิกแกนหลักและสมาชิกแนวร่วมในระยะแรก ก่อนจะมีการจัดตั้งสมาพันธ์ ให้สามารถดำเนินการโดยสมาชิกแกนหลักที่มาจาก สมาชิกก่อตั้งสมาพันธ์จนกว่าจะมีการประชุมสามัญครั้งแรก