สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ นั้นเกิดจากภาคีเครือข่ายทั้งหลายเห็นว่าที่ผ่านมา “การควบคุมยาสูบยังเป็นการดำเนินงานกันในวงจำกัด ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอเมื่อเทียบกับมาตรการเชิงรุกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและรุนแรงของอุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการควบคุมยาสูบยังจำกัดอยู่เฉพาะหน่วยงานภาคสุขภาพ และหน่วยงานในเมืองเป็นหลัก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหาความร่วมมือร่วมแรงเพิ่มขึ้นจากเครือข่ายทุกภาคส่วนที่มีบทบาทในการพัฒนาสังคมทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ทั้งภาคการสาธารณสุขและนอกวงการสาธารณสุข เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปมาก”

ด้วยเหตุผลข้างต้นกลุ่มองค์กรภาคีหลักที่ได้ร่วมกันดำเนินงานควบคุมยาสูบ จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้ง “สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ (สคสบ)” เป็นพันธมิตรร่วมสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมปลอดบุหรี่

สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ (สคสบ) ได้มีมติให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่

ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเชี่ยวชาญในด้านการแพทย์ สาขาวิสัญญีวิทยา และได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์และยอมรับในทั้งวงการแพทย์และราชการทั่วไป เป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างของความเป็นครูที่ดี เป็นผู้บริหารและผู้ประสานประโยชน์ที่ดี

จากเกียรติประวัติการทำงาน ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง เช่น หัวหนาภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เลขาธิการและประธานกิตติมศักดิ์ชมรมศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษากรรมาธิการวิทยาศาสตร์และกรรมาการพาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎร ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร ประธานศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของแพทยสภา ประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย และนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นแพทย์สตรีคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกแพทยสมาคมฯ ในรอบ 86 ปี

ปัจจุบันศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการแพทยสภา กรรมการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประธานกรรมการบริหาร รพ.สมิติเวช ศรีราชา และรองประธานสหพันธ์แพทยสมาาคมภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (CMAAO)

ในด้านของการดำเนินงานเพื่อสังคมท่านยังดำรงตำแหน่ง ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ ได้บูรณาการการทำงานทั้ง 3 องค์กรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงานสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และร่วมสนับสนุนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์หลัก

  1. เพื่อดำเนินงาน สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ….และร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อให้สังคมไทยปลอดบุหรี่
  2. เพื่อการร่วมทำงาน สนับสนุน การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถลดการบริโภคยาสูบให้ได้ ๓๐% ภายในปี พ.ศ.๒๕๖๘ (อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยลดลงจาก ๒๑%ในปี ๒๕๕๔ เหลือ ๑๕% ในปี ๒๕๖๘)

วัตถุประสงค์รอง

  1. เพื่อสร้างผู้นําการเปลี่ยนแปลง (Change agent) ในทุกภาคีเครือข่าย และสร้างองค์กร หน่วยงาน บุคคลต้นแบบ ในการรณรงค์ให้สังคมไทยปลอดบุหรี่
  2. เพื่อสนับสนุนให้ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. …. ผ่านรัฐสภาและมีผลบังคับใช้
  3. เพื่อร่วมกันดำเนินงานของสมาพันธ์ฯ ตามแผนงาน กิจกรรม โครงการ ซึ่งเชื่อมโยงตามยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ
  4. เพื่อร่วมกับเครือข่ายต่างๆ กำหนดนโยบายสาธารณะในการควบคุมยาสูบ และสินค้าที่เป็น อันตรายต่อสุขภาพ ทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ

ภาพรวมแผนยุทธศาสตร์

ภายใต้แพทยสมาคมฯ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิเช่น สานักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมปลอดบุหรี่ ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายวิชาชีพด้านสุขภาพต่างๆ เช่น เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ฯ เครือข่ายวิชาชีพพยาบาลฯ เครือข่ายวิชาชีพเภสัชฯ เครือข่ายวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ฯ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยฯ สถาบัน และหน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ รวม ๒๑ กลุ่มพันธมิตร มีเป้าหมายที่จะเป็นเครือข่ายความรู้ให้กับประชาชน เป็นเครือข่ายที่สร้างความห่วงใยในชีวิตที่มีคุณภาพ ครอบครัวที่อบอุ่น ชุมชนที่เข้มแข็ง และเป็นเครือข่ายที่ก่อกำเนิดสายใยจากทุกชนชั้นให้รวมพลังเป็นกำแพงที่แข็งแกร่งปกป้องเยาวชนให้พ้นจากพิษภัยบุหรี่ เพื่อสังคมไทยในยุคใหม่ปลอดบุหรี่ ปลอดโรค และพร้อมที่จะเป็นพลังสร้างสรรค์อย่างมีคุณค่าแก่สังคมตลอดไป นอกจากที่กล่าวมาแล้ว สมาพันธ์ฯ ได้มีการร่วมกับภาคีสาขาอาชีพอื่นๆ เช่น ศิลปิน ดาราและสื่อสารมวลชน ซึ่งถือเป็นกำลังใจและต้นแบบที่ดีต่อประชาชนในการเลิกบุหรี่ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่าย และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ในการขับเคลื่อนสังคมไทย ในทุกๆภาคีเครือข่าย เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาของการสูบบุหรี่ในด้านสังคม นั้น สมาพันธ์ฯ ใช้แผนขับเคลื่อนทั้งในระดับนานาชาติ ระดับชาติ ระดับจังหวัด เช่น การจัดตั้งสมาพันธ์ฯระดับจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ ให้การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ทุกกิจกรรม รับรู้และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันจะก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนอย่างมหาศาลของทุกภาคี ในภาคการสาธารณสุข ภาคการศึกษา และภาคแรงงาน ก็เช่นกัน อีกทั้งร่วมพัฒนาระบบบริการเลิกบุหรี่ในประเทศไทยเพื่อรองรับกระบวนการเลิกบุหรี่ที่จะเกิดขึ้นโดยบุคลากรวิชาชีพสุขภาพหลากหลายสาขา ทั้งในและนอกโรงพยาบาล แต่ยังประสบปัญหาในการขับเคลื่อนต่างๆ อีกทั้งขาดการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและนโยบายจากภาครัฐอย่างจริงจังและจริงใจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งมีปัญหาในการเข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ของประชาชนที่สูบบุหรี่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนทั้งสิ้น ทำให้การให้บริการเลิกบุหรี่ในประเทศไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น การขยายฐานภาคีเครือข่าย พัฒนาเพิ่มศักยภาพ รณรงค์เผยแพร่ความรู้ และสร้างการรับรู้ ในการรณรงค์ควบคุมการบริโภคยาสูบ ให้กับภาคีเครือข่าย เพื่อก่อให้เกิดความตระหนักถึงพิษภัย ปัญหาการเสพยาสูบอันจะก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งในด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม

ในก้าวต่อไปในแผนยุทธศาสตร์ของ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่จะเน้นการดำเนินงานเชิงรุกร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันผลักดันให้ภาคีเครือข่าย สามารถปรับรูปแบบการทำงานให้มีลักษณะเชิงบูรณาการ อันจะก่อให้เกิดการแสวงความร่วมมือ สร้างและขยายเครือข่ายจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมของสมาพันธ์ฯ

โดยการบูรณาการดังกล่าว สมาพันธ์ฯ จะเน้นการดำเนินงานที่ไม่ทับซ้อนกับภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลายในการที่จะป้องกันและส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกระดับ ได้รับประโยชน์สูงสุดในทุกกิจกรรม

สรุป ในแผนยุทธศาสตร์ของสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ คณะกรรมการอำนวยการพร้อมภาคีเครือข่ายจะเพื่อดำเนินงาน โดยเน้นบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น องค์กรแพทย์ ราชวิทยาลัยฯ สมาคมฯ องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนคนไทย เพื่อร่วมกันดำเนินงานด้านการควบคุมการสูบบุหรี่ และประการสำคัญคือเพื่อบรรลุเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถลดการบริโภคยาสูบให้ได้ 30% ภายในปี พ.ศ.2568 (อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยลดลงจาก 21%ในปี 2554 เหลือ 15% ในปี 2568)

กรอบแนวคิดในการดำเนินงาน