1.หลักการและเหตุผล
การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะมะเร็งปอด ปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด และในคนไข้เบาหวาน ความดัน และโรคอื่นๆ ซึ่งหากสูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดทั่วร่างกาย ในแต่ละปีมีประชากรมากกว่า 9 ล้านคนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ โดยในจำนวนนี้มากกว่า 8 ล้านคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ และอีก 1 ล้านคนไม่ได้สูบบุหรี่ แต่กลับต้องมาเสียชีวิตจากควันบุหรี่ หรือที่เรียกว่า ควันบุหรี่มือสอง สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลปี 2560 ประชากรไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 72,000 ราย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมปีละ 220,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 20,000 บาท ต่อผู้สูบบุหรี่ 1 คน ต่อปี
ทั้งนี้ จากการสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในปี 2560 กับปี 2564 ลดลงจากร้อยละ 19.1 มาเป็นร้อยละ 17.6 แม้ทิศทางการสูบบุหรี่ของประเทศไทยจะลดลง แต่กลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจยาสูบ จะพบว่าปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ พยายามเจาะกลุ่มเป้าหมายเยาวชนและวัยทำงาน และมีการโฆษณาสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ในช่องทางที่หลากหลาย โดยเฉพาะการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งยากต่อการควบคุม อันจะนำไปสู่การเกิด ผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตไม่แตกต่างจากการสูบบุหรี่
บุหรี่มีสารเคมีกว่า 4,000 ชนิด บางชนิดเป็นสารพิษที่ทำลายอวัยวะต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เริ่มจากนิโคตินมีฤทธิ์ร้ายแรงเท่ากับเฮโรอีน และยังมีทาร์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจน ไซยาไนด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และแอมโมเนีย สารพิษเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคภัยนานาชนิดกว่า 25 โรค ทำให้ผู้สูบบุหรี่ ทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย และเสียชีวิต ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ หรืออาจจะทุกคนย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าบุหรี่มีพิษต่อร่างกาย ในคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำนั้น ถึงแม้ปัจจุบันจะมีคลินิกช่วยเลิกบุหรี่เกิดขึ้นมากมาย และให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ยังต้องการแรงบันดาลใจที่สำคัญต่อชีวิตเพื่อช่วยในการผลักดันจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งสามารถต่อสู้กับความอยากบุหรี่ให้ได้ แรงบันดาลใจที่สำคัญนั้นก็คือครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ญาติพี่น้อง ทั้งหมดนี้เรียกว่าสถาบันครอบครัว
สถาบันครอบครัว เป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของสังคม หากครอบครัวเข้มแข็ง สังคมก็จะเข้มแข็งไปด้วย ปัจจุบัน ปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การไม่รักนวลสงวนตัวเป็นต้น หากมองย้อนกลับไป จะพบว่า เกิดจากรากฐานครอบครัวที่อ่อนแอลง หากสังคมไทยไม่ตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว มีการละเลยเพิกเฉยต่อ สิ่งที่เกิดขึ้น อนาคตของสังคมไทยจะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ และจะนำไปสู่ปัญหาตามมามากมาย
และสำหรับในครอบครัวนั้น คนที่เป็นแก้วตาดวงใจของพ่อ แม่ ก็คือ ลูก พ่อ แม่ เฝ้ามองการเจริญเติบโตของลูกด้วยความรัก ความห่วงใย และเมื่อลูกเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น ลูกก็จะมีสังคมที่สำคัญอีกสังคมหนึ่ง และเป็นสังคมที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นมากที่สุดคือ กลุ่มเพื่อน เพื่อนเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อพฤติกรรมของวัยรุ่นทั้งความคิด ค่านิยม การเรียนรู้ วัยรุ่นมักเลือกคบเพื่อนที่มีรสนิยม ทัศนคติคล้ายคลึงกันเด็กชายจะรวมกลุ่มกับเด็กชายด้วยกันก่อน เด็กหญิง ก็จะรวมกลุ่มและมีกิจกรรมร่วมกัน เพราะการมีเพื่อนสนิทเป็นสิ่งสำคัญ หากคบเพื่อนที่ดีก็จะนำพากันไปในทางที่ดีในทางตรงกันข้าม หากคบเพื่อนที่ไม่ดีจะทำให้้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของครอบครัวและสังคม ดังนั้นสถาบันครอบครัวจึงมีความสำคัญมาก หากครอบครัวที่มีแต่ความรักและความอบอุ่นจะช่วยลดปัญหาอิทธิพลของกลุ่มเพื่อนที่มีพฤติกรรมไม่ดีลงได้มาก
นอกจากบุหรี่ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ปัจจุบันยังมี “บุหรี่ไฟฟ้า" ภัยร้ายตัวใหม่ที่ผู้ใหญ่จะมองข้ามไม่ได้อีกต่อไป บุหรี่ไฟฟ้าใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำที่ประกอบด้วยสารเคมีต่าง ๆ ได้แก่ นิโคติน เป็นสารที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่ ดังนั้นบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ อีกทั้งยังทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้นโพรไพลีนไกลคอล และกลีเซอรีน หากสูดดมอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองปอดได้ และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดหอบหืดสารประกอบอื่น ๆ สารแต่งกลิ่นและรส โทลูอึน เบนซีน นิกเกิล โคบอลต์ โครเมียม ตะกั่ว บุหรี่ไฟฟ้าจึงมีอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดมะเร็งปอด แต่มีหลักฐานยืนยันว่าเพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน นอกจากส่งผลโดยตรงต่อสมอง และระบบประสาท ยังมีข้อมูลที่น่าตกใจพบว่า เด็กอายุ 10-19 ปีที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่าครึ่ง หรือ 53% มีภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้า
การเติบโตของบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน(Heated Tobacco Product) ได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก จากประมาณ 7 ล้านคนในปี 2011 เพิ่มมาเป็น 41 ล้านคนในปี 2018 สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจเมื่อปี 2557 มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า 49,180 คน หรือคิดเป็น 0.09% ต่อมาการสำรวจเมื่อปี 2560 จำนวนคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าลดลงเป็น 11,096 คนหรือคิดเป็น 0.02% ซึ่งเป็นปีที่ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 เริ่มบังคับใช้ และมีการห้ามจำหน่าย นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว และการสำรวจล่าสุดคือเมื่อปี 2564 จำนวนคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 78,742 คนหรือคิดเป็น 0.14%
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 รัฐบาลไทยได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ซึ่งหากมีผู้ฝ่าฝืนนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้าเหล่านั้นรวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นด้วย และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 ห้ามขาย หรือ
ห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีโทษสำหรับผู้ขาย ผู้ให้บริการ โดยจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ผลิต ผู้สั่ง ผู้นำเข้าเพื่อขาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10ปี ปรับไม่เกิน 1ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในปัจจุบัน
ผู้ที่มีไว้ในครอบครองก็ถือว่าผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน
แต่ถึงแม้จะกฎหมายออกมาอย่างไรก็ตาม ในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกนำไปขายในแพลตฟอร์มออนไลน์มากมาย ทำให้ยากต่อการติดตามจับกุม และที่น่าหวาดวิตกเป็นทวีคูณคือผู้ผลิตได้สร้างการตลาดโดยผลิตให้บุหรี่ไฟฟ้ามีรูปลักษณ์สวยงาม ถูกใจวัยรุ่น วัยทำงาน เป็นแฟชั่นที่ต้องมีไว้อวดเพื่อนๆ ในกลุ่ม สร้างให้เกิดความนิยมในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มคนทำงานเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจผิด ๆ ว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ปกติได้ และยังพยายามสร้างข่าวผิดๆ ออกมาเป็นระยะ สร้างกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาต่อต้านกฎหมายห้ามนำเข้า และครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังประกาศใช้ในปัจจุบัน และพยายามวิ่งเต้นทางการเมืองให้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถนำเข้าและขายได้ในประเทศไทย
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงได้จัดทำโครงการ “สุขภาพดีต้องปลอดบุหรี่” เพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนในชุมชน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกหลังคาเรือน ได้ร่วมกันรับรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะเล่ห์กลในการกล่าวอ้าง โฆษณาของกลุ่มคนที่ขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อทุกคนในชุมชนจะได้ช่วยกันสอดส่อง ป้องกัน ไม่ให้ลูกหลานหลงเข้าไปในวังวนอันแสนอันตรายของบุหรี่ และ บุหรี่ไฟฟ้า พ่อ แม่ช่วยคอยสังเกตลูก หลาน ไม่ให้หลงผิดไปเป็นนักสูบหน้าใหม่, ลูก หลาน คอยเตือนพ่อแม่ให้เลิกสูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ชุมชนช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นชุมชน สุขภาพดี ปลอดบุหรี่ และ บุหรี่ไฟฟ้า
2.วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ไฟฟ้า และ อันตรายจากการสูบบุหรี่
บุหรี่ไฟฟ้า และบารากู่ไฟฟ้า ให้แก่ประชาชน และให้รับรู้ว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
2.2 เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนไปให้ประชาชนตระหนักว่า การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามิใช่ความโก้เก๋อีกต่อไป
2.3 เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงผลกระทบระยะสั้น และระยะยาว ของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ไฟฟ้า
ที่มีต่อสุขภาพร่างกาย สิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่าย และเป็นผลให้ประชาชนที่สูบบุหรี่เริ่มตระหนักที่จะลด ละ และเลิกบุหรี่
3.ขอบเขตการดำเนินงาน
จัดกิจกรรม “สุขภาพดีต้องปลอดบุหรี่” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงพิษภัยเกี่ยวกับบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และ
บารากู่ไฟฟ้า ให้กับประชาชน โดยให้รับรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ และรับรู้ว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
- ติดต่อประสานงานชุมชน เพื่อจัดกิจกรรมภายในชุมชน จำนวน 10 แห่ง
- คัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม
- ให้ความรู้ถึงผลกระทบของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ไฟฟ้า ต่อสุขภาพร่างกาย สิ่งแวดล้อม
- ให้ความรู้เรื่องผลเสียจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่
5. สร้างค่านิยม เรื่องการสูบบุหรี่มิใช่ความโก้เก๋อีกต่อไป ให้หันมาสนใจสุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง - กิจกรรมเสริมอื่น ๆ เช่น ให้ความรู้เกี่ยวกับการมีสุขภาพร่างกาย และจิตใจที่ดี การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
- กลุ่มเป้าหมาย
ประชาชนทั่วไป โดยมุ่งเน้นในในแหล่งชุมชนต่าง ๆ รวมจำนวน 10 ครั้ง
- ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ชุมชนให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน โดยการรณรงค์ให้รู้ถึงกฎหมายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยมุ่งหวังที่จะให้ชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่
- จำนวนประชาชนในชุมชนจากที่เป็นผู้สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และบารากู่ไฟฟ้า ที่หันมาเลิกสูบบุหรี่ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
- ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ไฟฟ้า รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ให้คนในครอบครัว รวมทั้ง ชุมชนข้างเคียงของตนได้
- จำนวนชุมชนที่สนใจและติดต่อเข้าร่วมโครงการมีเพิ่มมากขึ้น
- การประเมินผล
- จำนวนผู้เข้าร่วมงาน (เริ่มคัดกรองตั้งแต่ลงทะเบียน)
- แบบสอบถามความเข้าใจจากการร่วมกิจกรรม
- ระยะเวลาการดำเนินงาน
ตั้งแต่ เดือน มกราคม 2566 – เดือนกรกฎาคม 2567
- คุณสมบัติของผู้เสนอราคา
- ผู้เสนอราคาต้องเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างงานที่ สอบราคาจ้าง
- ผู้เสนอราคาต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานของทางราชการและได้แจ้งเวียนชื่อแล้ว หรือไม่เป็นผู้ที่ได้รับผลของการสั่งให้นิติบุคคลหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ
- ผู้เสนอราคาต้องไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้เสนอราคารายอื่น ณ วันประกาศสอบราคาหรือไม่เป็นผู้กระทำการอันเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
- ผู้เสนอราคาต้องไม่เป็นผู้ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกัน ซึ่งอาจปฏิเสธไม่ยอมขึ้นศาลไทย เว้นแต่รัฐบาล ของผู้เสนอราคาได้มีคำสั่งให้สละสิทธิ์และความคุ้มกันเช่นว่านั้น
- ผู้เสนอราคาต้องเป็นนิติบุคคล หรือบุคคล